ขวัญและกำลังใจคืออะไร
ตามศัพท์ภาษาไทยแล้ว 'ขวัญและกำลังใจ' สามารถแยกได้ 2 คำ คือ 'ขวัญ' และ 'กำลังใจ' มีความหมายดังนี้
' ขวัญ' หมายถึง สิ่งที่ไม่มีตัวตน นิยมกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา
เชื่อกันว่าถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล เป็นสุขสบาย จิตใจมั่นคง ถ้าคนตกใจหรือเสียขวัญ
ขวัญออกจากร่างไปเสีย ซึ่งเรียกว่าขวัญหาย ขวัญหนี ขวัญบิน เป็นต้น
' กำลังใจ' หมายถึง สภาพของจิตใจที่มีความเชื่อมั่น และกระตือรือร้น พร้อมจะ
เผชิญกับเหตุการณ์ทุกอย่าง
'ขวัญและกำลังใจในการทำงาน' คือ สภาพทางจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน เช่นความรู้สึก
นึกคิดที่ได้รับอิทธิพล แรงกดดัน หรือสิ่งเร้าจากปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมในองค์การที่อยู่
รอบตัวเขา และจะมีปฏิกิริยาโต้กลับ คือพฤติกรรมในการทำงาน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อผลงานของบุคคลนั้น
ขวัญและกำลังใจเป็นอย่างไร
ขวัญและกำลังใจ เป็นสภาพทางจิตใจ ทัศนคติ และความรู้สึกที่มีผลส่วนหนึ่งมาจาก
การปฏิบัติงานร่วมกับกลุ่มโดยอาจเกิดร่วมกันเป็นกลุ่มในแต่ละบุคคลได้
ขวัญและกำลังใจ อยู่ที่สภาพจิตใจ ทัศนคติ อารมณ์ ของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน รวมทั้งทีมงานทั้งหมด
ขวัญและกำลังใจ มีผลกระทบต่องาน ผลผลิต ความร่วมมือ ความกระตือรือร้น วินัย และความสำเร็จของหน่วยงาน
ขวัญและกำลังใจ มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับหัวหน้างาน ผู้บังคับบัญชา ลูกน้อง รวมไปถึงผู้มารับบริการและชุมชน
ขวัญและกำลังใจ มีผลต่อความมุ่งมั่นและความเต็มใจในการทำงานเพื่อพัฒนางาน
และหน่วยงานของตนเอง
แม้ว่าขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและวัดได้ยากแต่เราก็สามารถรู้สึกและ
สังเกตได้ นอกจากนั้น ขวัญและกำลังใจยังเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารควรรับรู้ เพราะขวัญและ
กำลังใจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้
ปัจจัยที่มีผลต่อขวัญและกำลังใจ
การยกระดับขวัญและกำลังใจทำได้โดยการควบคุม ดูแล ให้ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อ
ขวัญและกำลังใจอยู่ในสภาพที่ดีมีปัจจัยภายนอกหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจ
ดังนั้น ผู้บริหารควรตระหนักและพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องภายในหน่วยงานของ
ตนเอง รวมทั้งหาทางปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ที่คิดว่าเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานเพื่อให้
ขวัญและกำลังใจของผู้ใต้บังคับบัญชาสูงขึ้น
จากการปฏิบัติงานประจำกัน ถ้าเราใส่ใจและลองสังเกตสภาพการณ์ทั่ว ๆ ไป ภายใน
หน่วยงานของตนเอง เราจะพบอาการที่สามารถบ่งชี้ถึงสภาพขวัญและกำลังใจที่ตกต่ำหรือ
สูงได้
ถ้าหน่วยงานของท่านมีสภาพ ดังนี้
- การโต้เถียงกันอย่างรุนแรงเอาเป็นเอาตายระหว่างประชุม
- การทำงานไม่มีคุณภาพ
- การปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมาย
- การขัดคำสั่ง ไม่เชื่อฟังหัวหน้างาน
- การขาดงานบ่อย ๆ
- สภาพเต็มไปด้วยข่าวลือ
- มีการกลั่นแกล้งกันในเรื่องงาน
- งานไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ฯลฯ
คือ อาการของ 'หน่วยงานที่ขวัญและกำลังใจตกต่ำ'
ถ้าหน่วยงานของท่านมีสภาพ ดังนี้
- ความขัดแย้งภายในมีน้อย
- มีความไว้วางใจซึ่งกันและกันสูง
- สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
- กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ชัดเจน
- กำหนดบทบาทและความรับผิดชอบชัดเจน
- มีการสื่อสารและระบบการสั่งงานที่ดี
- ยอมรับในผู้นำ
- การจัดทรัพยากรที่เป็นธรรม
ฯลฯ
คือ อาการของ 'หน่วยงานที่ขวัญและกำลังใจดี'
เพื่อให้ง่ายในการสังเกต เราสามารถตรวจสอบสภาพขวัญและกำลังใจของคนในหน่วย
งานได้จากการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้
- นโยบายและเป้าหมายของหน่วยงาน
- ภาพพจน์ของหน่วยงาน
- การสื่อสารจากผู้บังคับบัญชาถึงผู้ใต้บังคับบัญชา
- การสื่อสารจากผู้ใต้บังคับบัญชาถึงผู้บังคับบัญชา
- ความสัมพันธ์ของบุคลากรภายในหน่วยงาน
- ระดับความพอใจในงาน
- วินัยของผู้ปฏิบัติงาน
- บรรยากาศในการทำงาน
- โอกาสในการศึกษา พัฒนาและฝึกอบรม
- สิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน
- ค่าจ้างและเงินเดือน
- ความสะอาดและสุขลักษณะของสถานที่ทำงาน
- ความปลอดภัยในการทำงาน
- การมีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่มย่อย
- ความภักดีต่อหน่วยงาน
- สิ่งอำนวยความสะดวกทั่ว ๆ ไป
เมื่อพบจุดตรวจใดเป็นจุดบกพร่อง เราต้องการหาทางปรับปรุงจุดต่าง ๆ เหล่านั้น เพื่อยกระดับขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานให้สูงขึ้น ในยุคของเทคโนโลยีที่ทันสมัย และ
การสื่อสารไร้พรมแดน สิ่งที่ทำให้การดำเนินงานของหน่วยงานมีประสิทธิภาพและประ
สิทธิผลแตกต่างกันกับหน่วยงานอื่น ๆ คือ 'คน' ซึ่งกิจกรรมที่จะนำมาใช้เพื่อการพัฒนา
หน่วยงาน เช่น กิจกรรม 5 ส กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อ
- พัฒนาให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงานที่สูงขึ้น
- เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงงาน
- ฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต
- พัฒนาให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
- รู้จักทำงานเป็นทีม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและปรับปรุงงาน
- รู้จักใช้ความคิดอย่างเป็นระบบและมีเหตุผล
- สร้างเสริมวินัย
- เพิ่มความสามัคคี
ฯลฯ
นอกจากจะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมแล้ว ยังเน้นให้ทุกคนรู้จักปรับปรุงงาน
ของตนเองเป็นหลัก เพราะผู้ปฏิบัติย่อมรู้ดีว่าปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานเป็น
อย่างไร โดยเริ่มจากการสังเกตสภาพแวดล้อมในการทำงานรอบ ๆ ตัวของเราก่อน
ลองสังเกตสถานที่ทำงานว่ามีสภาพเช่นนี้หรือไม่
- ห้องที่เต็มไปด้วยโต๊ะทำงาน
- มีเสียงโทรศัพท์ดังตลอดเวลา
- แสงสว่างไม่เพียงพอ
- มีเครื่องถ่ายเอกสาร แต่ใช้งานไม่ได้หรือได้ไม่ดี
- อุปกรณ์เครื่องใช้ใหม่ แต่ไว้ใจไม่ได้พร้อมที่จะเสียตลอดเวลา
- เครื่องปรับอากาศที่เย็นเกินไป ร้อนเกินไป
- ทางเดินที่คับแคบ มีสิ่งของวางกีดขวาง
- มีเสียงดัง รบกวนการทำงานเป็นระยะ
- สิ่งอำนวยความสะดวกไม่ดีพอ เช่น ห้องน้ำสกปรก โรงอาหารไม่ถูก
สุขลักษณะ ฯลฯ
- มีวัสดุอุปกรณ์ไม่เพียงพอ
- การระบายอากาศที่ไม่ดีพอ
ฯลฯ
คุณคิดอย่างไรกับสภาพที่ทำงานข้างต้น?
- เรื่องอย่างนี้พบเห็นในที่ทำงานจนกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว
- อยู่ไปก็ชินเอง
- เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งเหล่านี้ให้ได้
- เบื่อ!...แต่ก็ทำอะไรไม่ได้
- ควรจะปรับปรุงให้สถานที่ทำงานมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ทำงานได้สะดวกขึ้น
- ถ้าทุกคนในหน่วยงานร่วมมือกันก็จะสามารถแก้ไขได้
ในการทำงานหนึ่ง ๆ นั้น งานจะออกมามีคุณภาพหรือไม่ เสร็จทันเวลาหรือได้รับ
ความร่วมมือจากผู้ร่วมงานหรือไม่ ฯลฯ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการทำงาน
เพราะสภาพแวดล้อมในการทำงานจะส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก อารมณ์ของผู้ปฏิบัติงาน
ซึ่งก็หมายถึงขวัญและกำลังใจในการทำงานด้วย ด้วยเหตุที่บรรยากาศในสถานที่ทำงาน
ความสัมพันธ์ที่ดีของกลุ่มทำงาน สนุกกับการทำงานร่วมกันเป็นทีม เห็นประโยชน์ รับฟัง
ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหาในงาน พฤติกรรมที่แสดงออกทางสีหน้า
และท่าทาง สิ่งเหล่านี้ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันก็จะมีผลให้สถานที่ทำงานน่าทำงานและ
สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น ปัญหาที่เคยมี เราก็จะมีส่วนในการแก้ไขปัญหา
เราก็จะรู้สึกมั่นใจ ภาคภูมิใจ ได้รับการยอมรับ ฯลฯ ผลก็คือ ขวัญและกำลังใจในการ
ทำงานที่สูงขึ้นนั่นเอง
คำบันดาลใจ
หัวหน้าที่เอาแต่ด่าลูกน้อง
โดยไม่ยอมชี้ให้เห็นว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างไร
ย่อมไม่ใช่หัวหน้าที่ดี
แต่พูดให้ถึงที่สุดแล้ว ควรต้องบอกว่า
ความผิดซ้ำๆ บางอย่างเป็นเรื่องง่ายที่จะแก้ไข
คนที่ทำผิดแล้วเปลี่ยนเป็นถูก
คนที่ไม่ทำความผิดซ้ำ
คือ คนที่สามารถจะพัฒนาตนเองให้ก้าวไปได้
เร็วก็หาว่าล้ำหน้า
ช้าก็หาว่าอืดอาด
โง่ก็ถูกตวาด
พอฉลาดก็ถูกระแวง
ทำก่อนบอกไม่ได้สั่ง
ทำทีหลังบอกไม่รู้จักคิด